วัดปืน เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองซึ่งเป็นย่านการทูตและการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บนพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านตะวันตกของบ้านหลวง
รับราชฑูต และบ้านพระยาวิชาเยนทร์ ส่วนด้านทิศติดกับบ้านหลวงรับราชทูตเปอร์เซียหรืออิหร่าน ที่เป็นตึกปิจูและตึกคชสาร (โคระซานหรือโกรซัน) ในบริเวณวัดเสาธงทองในปัจจุบัน
วัดปืนถูกขึ้นทะเบียนไว้เป็นวัดร้าง กับถูกชุมชนเมืองรุกที่โดยรอบด้วยร้านค้าและเพิงสังกะสีที่รกรุงรังมานาน ด้วยความสามารถของกรมศิลปกร ย้ายชุมชนและร้านค้าออกไป ทั้งหมดทำการขุดค้นปฏิสังขรณ์ในห้วงปี 2549 และปี 2552 จึงได้วัดปืนกลับคืนมา คือได้วิหารยาว 4 ห้อง มีกำแพงอิฐเหลืออยู่ทั้ง 4 ด้าน โดยไม่มีหลังคา ห้องหนึ่งตรงมุขด้านหน้า น่าจะต่อเติมขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ด้วยกำแพงภายในทำเป็นช่องกุฏิรูปกลีบบัวโค้งแหลมอันเป็นสถาปัตยกรรมยอดนิยมในสมัย นั้น
นักโบราณคดีให้ความเห็นว่า วัดปืนเป็นวัดเก่าครั้งอยุธยาตอนต้น
ด้านหลังวิหารพบฐานใหญ่แปดเหลี่ยมของพระเจดีย์ และฐานพระอุโบสถ เมื่อขุดลึกลงไปประมาณ 2-3 เมตร พบซากอาคารเก่าสมัยทวารวดีอีกด้วย ชวนให้จินตนาการว่า เมืองลพบุรี (ละโว้ , ลวะปุระ หรือนพบุรี) ถูกปกครองจากผู้มีอำนาจหลายยุคหลายสมัย ทั้งมอญและเขมร เป็นเมืองเก่าที่มีสมบัติโบราณทับซ้อนอยู่มาก คล้ายกรุงทรอยในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน ประมาณนั้น
ถึงวันนี้ วัดปืนได้รับการขุดแต่งบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ดูเป็นศรีสง่าแก่เมืองมาก จริงๆ แล้วในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตรงวัดปืนน่าจะเป็นจุดชมวิวที่ได้ชมภูมิทัศน์ทางทิศเหนือซึ่งเป็นเกาะแก้วเป็นตลาดทุ่งพรหมาสตร์ที่กว้างขวาง กับป้อมท่าโพธิ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนกำแพงเมือง ส่วนด้านตะวันตกของวัดเป็นแม่น้ำลพบุรี ที่มีตลิ่งสูงในหน้าแล้ง แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะเปี่ยมเต็มฝั่งและคลาคล่ำด้วยเรือชาวบ้านและชาวเมืองสารพัดชนิด แจวพายขึ้น-ล่องขวักไขว่
บางทีวัดปืนในสมัยนั้นจะมีความสง่างามและความสำคัญเป็นรองอยู่แต่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อันเป็นวัดคู่เมืองเท่านั้น ชวนให้เข้าใจว่าวัดปืนน่าจะได้รับการดูแลอุปถัมภ์ให้ดูดี เสมอบ้านหลวงรับราชฑูตที่อยู่เคียงกัน หรือดีกว่าด้วยในหมู่บ้านหลวงรับราชฑูต มีโรงสวดหรือโบสถ์ฝรั่งทรงไทยอยู่ด้วยหลังหนึ่ง เทียบความใหญ่โตโอ่อ่าเห็นจะสู้วิหารวัดปืนไม่ได้
ทำไมต้องชื่อวัดปืน ปืนคือ คันศรพระนารายณ์หรือพระราม ได้แผงศรพรหมาสตร์ตกถึงเมืองลพบุรีศรนั้นร้อนนักจนแผ่นดินสุกเป็นสีขาว คือ เป็นดินสอพอง ศรเล่มหนึ่งมาตกอยู่ใกล้วัดปืน คือ ศาลลูกศรในปัจจุบัน เป็นหินที่แข็งต้องใช้น้ำหล่อไว้ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะร้อนจัดมากจนเป็นไฟไหม้เมือง ศรพระรามคือ ปืนพระราม และเป็นชื่อวัดในเวลาต่อมา กับสอดคล้องกับพระเครื่องเมืองลพบุรีพิมพ์ทรงดังมาก พิมพ์ทรงหนึ่งที่เซียนพระรู้จักคือ นารายณ์ทรงปืน สร้างตามคติมหายาน เป็นพระพุทธองค์ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ตรงกลาง เบื้องขวาเป็นพระนารายณ์ทรงยืนและทรงศร(ปืน) เบื้องซ้ายเป็นรูปเทวีนางปัญญาปรมิตตา ทรงยืนและทรงถือดอกบัว ประทับอยู่ภายใต้ซุ้มเรือนแก้วที่สวย สมดุล และ สง่างาม แต่พระเครื่องพิมพ์ทรงนี้ พบที่กรุพระวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ไม่ใช่กรุวัดปืน
ส่วนพระเครื่องดังกรุวัดปืนมี 3 พิมพ์ทรง คือ พระนาคปรกวัดปืน เนื้อโลหะ(เงินและตะกั่ว) มี 3 พิมพ์ ใหญ่ กลาง และเล็ก เซียนพระเรียกสั้นๆ ว่า “ปรกวัดปืน” โดยบางพิมพ์อยู่ในซุ้มเรือนแก้วด้วย
หลวงพ่อแขก หรือ หลวงพ่อจุก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งเหนือบัว 3 กลีบ มีทั้งเนื้อชินและตะกั่ว ยอดพระเกศขมวดเป็นปมคล้ายจุก เซียนพระเลยเรียกหลวงพ่อจุก
พระหูยาน พิมพ์เป็นพระพุทธรูปปรางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานบัว 5 กลีบ ทั้งคว่ำและหงาย กับลักษณะเด่น คือ พระกรรณยาวลงจรดพระพาหา พระพักตร์ก้มเล็กน้อย พระพักตร์อิ่มเต็มเรียก “หูยานหน้านาง” กับบางพิมพ์พระพักตร์บึงดุดันเรียก “หูยานหน้ายักษ์”
พุทธคุณของพระเครื่องกรุวัดปืนก็เป็นเช่นเดียวกับพระเครื่องเมืองลพบุรี พิมพ์ทรงอื่นๆ คือ
คงกระพัน ชาตรี และแคล้วคลาดภัยอันตรายต่างๆ กับเป็นพิเศษทางเมตตามาก
ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2562
ผู้เขียน ส.สีมา
https://www.silpa-mag.com/history/article_41737