อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟลพบุรี สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในบริเวณวัด มีศาลาเปลื้องเครื่อง ใช้เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินปลื้องเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ปัจจุบันศาลาเปลื้องเครื่องคงเหลือเพียงเสาเอียงเอนเท่านั้น ส่วนอื่นเป็นซากปรักหักพังไปหมดแล้ว ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่องเป็นวิหารขนาดใหญ่ ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบโกธิคของฝรั่งเศสภายในสร้างฐานชุกชี ทางใต้ของวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด ห่างไปทางทิศตะวันตกของวิหารหลวงเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่สูงที่สุดในจังหวัดลพบุรี สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูนมีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติที่มีลายปูนปั้น หน้าบันพระปรางค์แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายาน และซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้นที่ถือว่างดงามมาก สันนิษฐานว่าคงสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ แต่ได้รับการซ่อมแซมในมัยสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลวดลายจึงปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อในวงการพระเครื่องสมัยลพบุรี ได้แก่ พระหูยาน ซึ่งเคยมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก
สิ่งที่น่าสนใจมาก คือ ปรางค์รายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่มุมกลีบมะเฟืองทุกมุมปั้น เป็นรูปเทพพนมหันออกรอบทิศ พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยมพระขนงต่อกัน ลักษณะเป็นศิลปะแบบอู่ออก ชฎาเป็นทรงสามเหลี่ยมมีรัศมีออกไปโดยรอบ เป็นศิลปะที่มีความงามแปลกตาหาชมได้ยาก