วัดนครโกษา ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสถานีรถไฟลพบุรี ด้านตะวันออกใกล้กับศาลพระกาฬ
ในท้องที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
เป็นศาสนสถานที่สร้างซ้อนทับกันหลายสมัย เดิมคงเป็นเทวสถานของขอม มีพระปรางค์แบบลพบุรีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 อยู่ด้านหน้า แต่พระพุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองบนปรางค์นั้นคงสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง ได้พบเทวรูปหินขนาดใหญ่แบบลพบุรี ซึ่งมีร่องรอยดัดแปลงเป็นพระพุทธรูป 2 องค์ (ปัจจุบันนำไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์)
ส่วนพระอุโบสถ วิหาร สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสร้างเมืองลพบุรี และสันนิษฐานว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นแม่งานดำเนินการในครั้งนั้นจึงได้ชื่อว่า “วัดนครโกษา” ในปี พ.ศ. 2529-2530
กรมศิลปากรทำการขุดแต่งที่ฐานเจดีย์องค์ใหญ่ ได้พบประติมากรรมในสมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป
รูปบุคคล ยักษ์ ลวดลายประกอบสถาปัตยกรรม และพระพิมพ์ดินเผา และได้รวบรวมเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ วัดนครโกษาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479
ข้อมูลจากจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี